Friday, October 22, 2010

การบรรยายเรื่องอัตลักษณ์ทางเสียงดนตรี โดย ณรงค์ปรางเจริญ


Dr. Narong Prangcharoen

Musical Voices
งานมหกรรมการแสดงผลงานการประพันธ์เพลงนานาชาติแห่งประเทศไทย 2553 ณ มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 ได้มีการบรรยายในหัวข้อ “Musical Voices” โดย ดร.ณรงค์ ปรางค์เจริญ นักประพันธ์เพลง ซึ่งได้รับรางวัลการประพันธ์เพลงในระดับนานาชาติหลายรางวัล และได้รับรางวัลศิลปาธร จากกระทรวงวัฒนธรรมในปี พ.ศ. 2550 ในการบรรยายครั้งนี้ ดร.ณรงค์ ได้อธิบายถึงเสียงดนตรีที่อยู่ภายในตัวเราแต่ละคนว่ามีที่มาอย่างไร ทำไมดนตรีของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน
ดร.ณรงค์ได้เล่าถึงประสบการณ์การศึกษาเรื่องการประพันธ์เพลงว่า ขณะที่ศึกษาอยู่ในประเทศไทย ได้พยายามศึกษาบทประพันธ์ของนักประพันธ์เพลงรุ่นก่อนๆ และได้รับการประสิทธิประสาทวิชาประพันธ์เพลงจาก ดร.ณรงค์ฤทธิ์ ธรรมบุตร ซึ่งถือได้ว่าเป็นนักประพันธ์เพลงคลาสสิครุ่นที่ 2 ของประเทศไทย ดร.ณรงค์จึงเป็นรุ่นที่ 3 และเมื่อไปศึกษาต่อที่ประเทศอเมริกา อาจารย์ได้มีโอกาสอยู่ในสังคมของนักประพันธ์เพลงร่วมสมัย และได้ศึกษาการประพันธ์เพลงกับ Dr.Chen Yi ผู้ซึ่งจุดประกายความคิดในการค้นหาตัวเอง โดยให้ตั้งคำถามถามตัวเองว่าตัวเรามีจุดอ่อน จุดแข็งอย่างไร และเสียงดนตรีภายในตัวเราเป็นอย่างไร
ดร.ณรงค์ ค้นพบว่า คนเราตั้งแต่เกิดมาถูกห้อมล้อมด้วยเสียงมากกว่าคำพูด ในช่วงที่เราอยู่ในครรภ์มารดา เราได้ยินหัวใจเต้นของแม่ เสียงระบบไหลเวียนของเลือด ระบบย่อยอาหาร ฯลฯ ช่วงก่อนเรียนรู้ภาษาเราได้ยินเสียงรอบๆตัวเราทั้งที่ตั้งใจฟังและไม่ตั้งใจฟัง เช่น เสียงลม เสียงน้ำ ฯลฯ เสียงที่ห้อมล้อมตัวเราอยู่ตลอดเวลาอาจทำให้เรารู้สึกหรือไม่รู้สึกอะไรบางอย่าง เสียงที่เราได้ยินสามารถสื่อความหมายได้ว่าสร้างอารมณ์แบบไหน สามารถบอกเรื่องราวอะไรบางอย่างกับเรา ซึ่งจะเห็นได้ว่าเสียงหนึ่งๆสามารถบอกอะไรเราได้มากมายหลายอย่าง และเมื่อเอาความรู้สึกต่อเสียงรอบตัวมาประยุกต์ใช้กับดนตรี จะพบว่าเสียงดนตรีก็สามารถสื่อสารอะไรบางอย่างได้เช่นกัน
เสียงดนตรีสามารถแบ่งออกได้หลายรูปแบบ แต่ในมุมมองของ อ.ณรงค์ เสียงดนตรีคือเสียงอะไรก็ได้ที่มีการจัดวางรูปแบบ (organized) ไม่ใช่เสียงทั่วๆไปที่อยู่แวดล้อมรอบตัวเรา (ambient sound) เสียงดนตรีต้องมีความหมายในตัวเอง สามารถสื่อสารกับเราได้ มีความต่อเนื่องของระดับเสียงและจังหวะ และอีกนัยหนึ่งดนตรีอาจหมายถึงภาษา แต่จะเป็นภาษาสากลหรือไม่นั้น ดร.ณรงค์ยังไม่มีข้อสรุป จึงตั้งคำถามให้คิดต่อว่า คนที่ไม่เคยฟังเพลงไทยเดิม เมื่อฟังครั้งแรกแล้วสามารถเข้าใจเพลงไทยเดิมได้หรือไม่ ถ้าดนตรีเป็นภาษาจริงๆดนตรีสามารถถ่ายทอดข้อมูลให้ทุกคนเข้าใจได้หรือไม่ สามารถปลุกเร้าภาพหรือความรู้สึกบางอย่างของคนฟังได้หรือไม่ สามารถบรรยายสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่างๆที่คำพูดคำหนึ่งไม่สามารถอธิยายได้หรือไม่ หรือดนตรีต้องอาศัยประสบการณ์ส่วนตัว ภูมิหลังส่วนตัว และความรู้ส่วนตัวของคนฟังเพลงจึงจะสามารถฟังดนตรีให้เป็นภาษาได้ ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำอย่างไรจึงสามารถหาเสียงดนตรีที่เป็นภาษาที่ทุกคนเข้าใจได้
ภาษาที่อยู่บนพื้นฐานของเสียงดนตรีนั้นรวมถึงความเงียบด้วย ต้องสามารถสื่อสารบอกความหมายได้ โดยธรรมชาติแล้วภาษาจะถูกพัฒนาผ่านช่วงเวลา ภาษาจึงแตกต่างกันไปตามกาลเวลา จึงมีคำเรียกว่า ภาษาเก่า ภาษาใหม่ ในดนตรีก็เช่นกัน ดร.ณรงค์ ใช้เวลา 5 ปีในการหาภาษาดนตรีของตัวเองว่าเป็นรูปแบบใด โดยเปรียบเทียบองค์ประกอบที่แตกต่างกันของดนตรีภาษาเก่าและใหม่ และในที่สุดก็ค้นพบว่าสิ่งสำคัญที่สุด คือ ไม่สำคัญว่าเราใช้ภาษาใหม่หรือเก่า แต่สำคัญที่ว่าภาษาที่ใช้สามารถแสดงถึงอัตลักษณ์ คือ สามารถบ่งบอกตัวตนของผู้ประพันธ์เพลงนั้นได้ เช่น เชื้อชาติ  ฯลฯ ต้องสามารถบ่งบอกได้ว่านักประพันธ์แต่ละคนแตกต่างกันอย่างไร มีลักษณะเฉพาะอย่างไร ดร.ณรงค์เองมักถูกตีตราว่าเป็นนักประพันธ์เพลงชาวไทย ถูกคาดหวังความเป็นไทยในบทประพันธ์ แต่จะสร้างความแตกต่างจากนักประพันธ์ชาวไทยคนอื่นๆได้อย่างไร ถ้าใช้วัตถุดิบแบบเดียวกัน และในที่สุดได้ค้นพบว่าต้องเริ่มต้นที่ตัวเอง ต้องรู้จักตัวเอง รู้จักภาษาดนตรีของตัวเอง เพราะนักประพันธ์เพลงแต่ละคนมีรสนิยมในการเลือกไม่เหมือนกัน นั่นคือ มีรสนิยมเฉพาะตัว (personal taste) เป็นของตัวเอง
                เมื่อตอนเด็กๆ ดร.ณรงค์ เคยคิดว่า ต้องเขียนเพลงใหม่ ต้องใช้วัตถุดิบที่ไม่ซ้ำกับของเดิมเท่านั้น แต่เมื่อเริ่มเขียนเพลงเป็นอาชีพ มีข้อจำกัดของเวลา ไม่มีเวลาพอที่จะประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ตลอดเวลา ดังนั้นบทเพลงที่ประพันธ์ออกมาจึงดูเหมือนการนำวัตถุดิบเก่าๆมาใช้ซ้ำ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เป็นการทดลองใช้ของเดิมในรูปแบบใหม่ เป็นการพัฒนาของเดิม หรือสามารถมองได้อีกอย่างหนึ่งว่าเป็นการเดินทางบนเสียงดนตรี (musical journey) เป็นเหมือนสมุดไดอารี่ที่บันทึกพัฒนาการทางดนตรี ของเก่าที่นำมาใช้ซ้ำคือเสียงดนตรีที่เราชอบ อยากได้ยิน เช่น การใช้คอร์ด จังหวะ ฯลฯ มันคือรสนิยมเฉพาะตัวของเรา แม้นักประพันธ์เพลงที่ไม่สนใจการสร้างรูปแบบเฉพาะตัว เขียนเพลงได้ทุกรูปแบบ ก็ยังพบว่ามีอะไรคล้ายคลึงกันในเพลงของเขาและนั่นคือรสนิยมเฉพาะตัว            
ดร.ณรงค์ได้กล่าวถึง ปัญหาของนักประพันธ์เพลงเอเชียที่ค้นหาตัวตนของตัวเองไม่พบว่า แบ่งออกเป็น  2 ลักษณะ คือ บทประพันธ์ที่สร้างจากดนตรีพื้นบ้าน และบทประพันธ์แบบ Darmstadt School ที่ชอบใช้ noise   หลายคนอยากเขียนเพลงที่เป็นไทย เป็นเอเชีย แต่ก็อยากเขียนเพลงเหมือนชาวยุโรปที่เราชื่นชอบ อยากใช้เทคนิคแบบรัสเซีย แบบยุโรป ดร.ณรงค์ จึงให้คำแนะนำว่า นักประพันธ์เพลงต้องเชื่อมั่นในตัวเอง ทุกคนอยากเป็นนักประพันธ์เพลงที่ยิ่งใหญ่เป็นที่ชื่นชอบของคนทั้งโลก แต่ในที่สุดเราก็หนีความเป็นตัวเองไม่พ้น ดังนั้นไม่ควรเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้คนอื่นชอบ แต่ให้เขาชอบที่เราเป็นเรา เมื่อเราเขียนเพลงที่ไม่จริงใจกับตัวเอง ไม่เป็นตัวของเราเอง จะอยู่ในอาชีพนี้ได้ไม่นาน  คนฟังแล้วไม่ชอบเพลงของเราก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ สักวันจะมีคนชอบเอง เพราะฉะนั้นจงฟังเสียงดนตรีของตัวเองให้มากขึ้น  
ดร.ณรงค์ได้อธิบายถึงบทประพันธ์ของอาจารย์เองที่คนไทยหลายคนฟังแล้วไม่รู้สึกว่ามีความเป็นไทย ทั้งนี้เป็นเพราะอาจารย์ไม่ได้ใช้ทำนองเพลงดนตรีพื้นบ้านของไทย หรือบันไดเสียงไทยที่คนไทยคุ้นหู แต่ใช้วัตถุดิบ เช่น สร้างควอร์เตอร์โทนจากบันไดเสียงไทย เพียงเพื่อให้ได้กลิ่นอายของเพลงไทย มีความเป็นเอเชีย ไม่ให้รู้สึกว่าเป็นไทยจนเกินไป จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่คนไทยจำได้ว่าเป็นเพลงไทย แต่คนฟังจำได้ว่าเป็นเพลงของ อ.ณรงค์  ซึ่งใช้เทคนิคแตกต่างจากนักประพันธ์เพลงชาวไทยรุ่นก่อนๆที่นิยมประพันธ์เพลงโดยใช้เพลงไทยใส่คอร์ดแบบตะวันตก นอกจากนี้เทคนิคการผสมผสานวัฒนธรรมทางดนตรี ส่วนหนึ่งมีพื้นฐานมาจากครอบครัวและสังคมไทยที่อาศัยอยู่ท่ามกลางความหลากหลายของวัฒนธรรม อาจารย์จึงภูมิใจว่าบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นมาไม่ได้แสดงออกแค่เพียงคอร์ดหรือจังหวะที่ใช้ แต่สามารถบ่งบอกได้ถึงรากเหง้าของสังคมที่เติบโตขึ้นมา และบ่งบอกได้ว่ามีปรัชญาอยู่เบื้องหลังความคิด
ในตอนท้ายของการบรรยาย Kee Yong ได้ขอความคิดเห็นและวิธีแก้ไขปัญหาการศึกษาด้านดนตรีของคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง ดร.ณรงค์กล่าวว่า มีวัฒนธรรมการศึกษาที่คล้ายคลึงกัน คือ นักเรียนไม่มีความมั่นใจในตัวเอง เพราะอยู่ในระบบที่ต้องเคารพอาจารย์ตลอดเวลา มีอาจารย์คอยแนะแนวทาง ทุกคนฟังอาจารย์อย่างเดียว ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่กล้าอยากทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ แต่อย่างไรก็ตามก็ยังดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับนักเรียนที่มีความมั่นใจในตัวเองมากเกินไป ไม่เชื่อฟังคำแนะนำของอาจารย์ ไม่ปรับปรุงข้อบกพร่องของตัวเอง เมื่อใดที่เราคิดว่าเราฉลาดแล้วนั่นคือจุดจบของตัวเอง การที่เราคิดว่าเราโง่เราจะพยายามขวนขวายหาความรู้เพิ่มเติมตลอดเวลา  ดร.ณรงค์ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา คือ ให้แก้ไขที่ตัวอาจารย์ ควรสอนให้เด็กฟังและได้ยินในสิ่งที่ตัวเองอยากเขียน ควรช่วยให้เด็กได้ยินในสิ่งที่อยากได้ยิน เขียนในสิ่งที่ได้ยิน และช่วยให้ทำในสิ่งที่เขาอยากจะทำให้ได้ดีขึ้น เพื่อจะได้เขียนเพลงที่เป็นตัวตนของตัวเอง และที่สำคัญคือ ให้นักเรียนกล้าพูดในสิ่งที่อยากจะพูด กล้าที่จะแสดงว่าเขาไม่เข้าใจโดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะมองว่าโง่ก็ตาม
นอกจากนี้ จากประสบการณ์การสอนเรียนในประเทศไทย ดร.ณรงค์พบปัญหาว่า นักเรียนมักทดลองเขียนเพลงตามสมัยนิยมที่ชอบเสียงดนตรีที่ซับซ้อน เพลงที่เขียนออกมาจึงซับซ้อนมากจนเกินไป จนไม่สามารถได้ยินสิ่งที่ตนเองเขียน ไม่สามารถร้องออกมาได้ และไม่สามารถนำไปปฏิบัติจริงให้เสียงออกมาตามที่เขียนได้ คนเขียนเองก็ไม่รู้ว่าที่เขียนเสียงออกมาเป็นอย่างไร ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขด้วยการฝึกร้องสิ่งที่ตนเองเขียนให้ได้ และเขียนในสิ่งที่ตนเองร้องได้
ก่อนจบการบรรยาย ดร.ณรงค์ ได้กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวกับการสร้างอัตลักษณ์ของนักประพันธ์เพลงชาวไทย ว่าการศึกษาดนตรีในเมืองไทยควรจะมีชั้นเรียนที่เรียนเกี่ยวกับดนตรีไทย เพื่อสร้างนักประพันธ์เพลงที่สามารถผสมผสานวัฒนธรรมดนตรีของไทยกับตะวันตกได้ ซึ่งคนไทยโดยทั่วไปมองว่าการสร้างสรรค์ผลงานที่มีกลิ่นอายของความเป็นไทยไม่น่าสนใจ เพราะเราคุ้นเคยกับมันจนไม่รู้สึกว่าน่าตื่นเต้น ไม่เหมือนกับการสร้างสรรค์ผลงานตามรสนิยมตะวันตกซึ่งดูแปลกใหม่ไม่คุ้นเคย แต่เราคนไทยลืมไปว่าไม่มีชาติใดที่สร้างสรรค์ดนตรีแบบไทยๆได้ดีเท่าคนไทยเพราะเป็นวัฒนธรรมที่ถูกหล่อหลอมมาตลอดชีวิต และความเป็นไทยนี่เองควรเป็นพื้นฐานในการค้นหาอัตลักษณ์ของนักประพันธ์เพลงชาวไทยต่อไป
เรียบเรียงโดย สันตินาถ บุญเจือ นักศึกษาระดับปริญญาโท วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต

No comments:

Post a Comment